Friday, December 30, 2016

ประสบการณ์สอบ CAS Online Courses

     สองอย่างที่ต้องสอบให้ผ่านก่อนที่จะได้เป็น Associate ก็คือ 2 Online Courses
  • Online Course 1: Risk Management and Insurance Operations
    • เกี่ยวกับสิ่งทั่วๆไปที่เกี่ยวข้องกับประกันภัย
  • Online Course 2: Insurance Accounting, Coverage Analysis, Insurance Law,and Insurance Regulation
    • เกี่ยวกับประกันแต่ละประเภท เช่น รถยนต์ บ้าน คอนโด
Format:  75 ข้อ 2 ชั่วโมง สอบที่ Prometric เหมือน preliminary CBT exams

When:    แต่ละปีจะมี 4 ช่วงให้สอบ 
               [15 ม.ค. - 15 มี.ค.], [15 ม.ย. - 15 มิ.ย.], [15 ก.ค. - 15 ก.ย.], [15 ต.ค. - 15 ธ.ค.]

Passing: ต้องสอบให้ได้ 70% ขึ้นไปถึงจะผ่าน รู้ผลเลยหลังสอบเสร็จ

Prerequisite: CAS ไม่ได้กำหนดว่าให้สอบอะไรก่อนสอบ 2 ตัวนี้ เพราะฉะนั้นพร้อมเมื่อไหร่ก็สอบได้เลย ตอนผมสอบตัวนี้ ผมสอบตอนที่ผมสอบ preliminary exams เสร็จหมดแล้ว แล้วก็สอบ OC ตอนระหว่างรอผลสอบของ upper level exam

Materials: ตอนสมัครสอบ เว็บไซต์ของ The Institute จะมี Online Module ให้อ่านโดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม ตอนสมัครเราสามารถที่จะเลือกซื้อหนังสือก็ได้ แต่ทุกอย่างที่อยู่ในหนังสือนั้นก็อยู่ใน Module ทั้งหมด ถ้าใครที่ชอบการอ่านจากหนังสือมากกว่าอ่านจาก computer ก็แนะนำให้สั่งหนังสือมาอ่านครับ ใน Module นั้นจะมี Quiz ของแต่ละ section ให้ทำด้วย Quiz นี้ไม่ได้มีผลต่อคะแนนสอบใดๆ แต่มีใว้ให้เราเตรียมตัวเราเอง ผมแนะนำว่าให้ทำ quiz พวกนี้ให้มากที่สุดนะครับ แล้วก็แนะนำให้อ่าน materials จริงๆด้วยนะครับ ไม่ใช่ทำแต่ quiz ส่วนใหญ่แล้วนักเรียนที่นี่จะใช้เวลาประมาณ 8-10 สัปดาห์ในการเตรียมตัวก่อนสอบ ในเมื่อทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษ แล้วศัพท์ส่วนใหญ่เป็นศัพท์เกี่ยวกับประกันโดยตรง นักเรียนไทยอาจต้องเวลาเยอะกว่านักเรียนที่นี่ ก็เผื่อเวลาไว้หน่อยนะครับ แล้วยิ่งข้อสอบเป็นประเภพท่องจำ ไม่ค่อยมีเลข ยิ่งรู้สึกอ่านยาก

     ที่ผมได้เขียนไปในอีกโพสท์แล้ว ตอนผมสอบ OC 1 ครั้งแรกนั้น ผมสอบไม่ผ่าน ผมเลยต้องสอบครั้งที่ 2 ถึงจะผ่าน ตอนผมสอบ OC2 ผมก็ต้องสอบ 2 ครั้งเช่นกัน
     ผมไม่เคยชอบ OC เลยแม้แต่นิด ตอนผมสอบครั้งแรก ผมคิดว่าตัวเองอ่านไม่พอ เพราะผมประมาทเกินไป ตอนผมเรียนอยู่ที่ ISU ผมได้เรียนเกี่ยวกับพวกนี้หมดแล้ว ก็เลยคิดว่าน่าจะง่าย แต่มันไม่ใช่อย่างนั้นเลย เพราะมันเป็นข้อสอบที่ผมเกลียดมาก ผมว่าผมเป็นคนที่ชอบข้อสอบขาวดำแบบโจทเลข แต่กับข้อสอบนี้ ... ทุกอย่างเป็นสีเทา คำถามจะออกมาเป็นราวๆ "... เลือกข้อที่ถูกที่สุด ..." ข้อ A ก็ถูก แต่ข้อ C ถูกกว่า เพราะฉะนั้นก็ต้องเลือกข้อ C เพราะฉะนั้นตอนทำข้อสอบผมแนะนำให้อ่านคำถามและคำตอบทุกข้อให้ชัดเจน อย่าอ่านแบบผ่านๆ
     ถ้าใครที่สอบครั้งแรกไม่ผ่าน The Institute นั้นจะบอกให้เรารู้ว่า section ไหนที่เราทำได้ดีและไม่ดี เพราะฉะนั้นก็ดูผลสอบแล้วก็อ่าน section พวกนี้ให้มากขึ้น

ขอบคุณคุณมีเดชนะครับที่เข้ามาถาม ถ้ายังมีคำถามอะไรอีกก็ถามมาได้นะครับ 

Monday, December 26, 2016

Pricing Commercial VS Personal Insurance: การตั้งราคาประกันของ พาณิชย์ประกันภัย และ ประกันส่วนบุคคล

     สวัสดีครับ ไม่ได้เขียนนานเลย ไม่รู้จะเขียนอะไรด้วย แล้วก่อนหน้านี้ก็ยุ่งๆก่อนสอบและงานด้วย ถ้าใครอยากรู้เรื่องอะไร หรือมีคำถามอะไรก็เขียนมาได้นะครับ
     ณ ตอนนี้ผมได้มีโอกาสทำงานทั้ง 2 ด้านของ P&C insurance เลยว่าจะมาเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้สักหน่อย ประสบการณ์ของผมที่มีนั้นจะอยู่ในฝั่ง Pricing มากกว่า Reserving แต่ก็ยังผ่าน Reserving ของ Commercial มาบ้าง ทุกอย่างที่ผมเขียนจะมาจากประสบการณ์ในอเมริกา ซึ่งอาจจะต่างจากบางคนที่ทำงานในเมืองไทย เพราะกฏหมายที่ต่างกัน
     Pricing นี้อยู่ใน Exam 5 และ 8 ของ CAS

Background of Commercial VS Personal Insurance

     Commercial Insurance (พาณิชย์ประกันภัย) จะเกี่ยวกับประกันภัยที่มีบริษัททั่วไปเป็นคนซื้อ บริษัทจะซื้อประกันเพื่อปกป้อง ตัวเอง พนักงาน และ บุคคลที่สาม ส่วนประกอบของ Commercial Insurance มี Workers Compensation, Commercial Auto, Commercial Property และ General Liability
     Workers Compensation จะปกป้องพนักงานของบริษัทถ้าเกิดอะไรขึ้นระหว่างการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ที่เกิดจากการทำงาน
     Commercial Auto จะปกป้องรถ พนักงาน และ บุคคลที่สาม ที่เกิดจาก อุบัติเหตุของรถยนต์ของบริษัท ส่วนใหญ่บริษัทที่มีรถของบริษัทรับส่งของหรือบุคคลจะมีตัวนี้
     Commercial Property จะปกป้องตึก และ สิ่งของในตัวตืกของบริษัท
     General Liability จะปกป้องบริษัท และ บุคคลที่สาม จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นขณะทำงานหรือเกิดเหตุจากสินค้า

     Personal Insurance (ประกันส่วนบุคคล) จะเกี่ยวกับประกันภัยที่ซื้อโดยบุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น ประกันรถยนต์ บ้าน คอนโด ประกันผู้เช่าบ้าน เรือ หรือ พาหนะอย่างอื่น

Pricing of Commercial VS Personal Insurance

     การตั้งราคาของสองอย่างนั้นต่างกันมากใช้ได้ Commercial ส่วนใหญ่จะแยกเป็น 2 ประเภทคือ low/no touch และ high touch ส่วน Personal นั้นจะใช้การโมเดลเพราะไม่มีใครที่มีประสบการณ์การสูญเสียที่มั่นคงทุกปี

Commercial Insurance Pricing
     Low/No touch นั้นส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทเล็กๆที่ไม่มีรายได้สูง มีพนักงานน้อย หรือ ประสบการณ์การสูญเสียที่ไม่มากนัก (เช่น ร้านค้า หรือ ร้านอาหาร ที่มีแค่สาขาเดียว) เวลาบริษัทประกันตั้งราคาประกันบริษัทพวกนี้ จะใช้ประสบการณ์การสูญเสียของตลาด ซึ่งในอเมริกาจะมีองค์กรที่เก็บข้อมูลจากบริษัทประกันภัยทั้งหลายเพื่อให้การตั้งราคานั้นได้แม่นยำและเป็นธรรม หน้าที่ของ actuary เวลาตั้งราคา low touch นั้นส่วนใหญ่จะต้องสร้างโมเดลเพื่อให้การตั้งราคานั้นเร็วและแม่นยำ
     High touch นั้นจะเป็นบริษัทที่ใหญ่ รายได้สูง มีพนักงานเยอะ และ มีประสบการณ์การสูญเสียที่มั่นคงปีต่อปี (เช่น บริษัทที่มีร้านทั่วประเทศ แบบ Tesco Lotus หรือ 7-11) actuary จะมีบทบาทและหน้าที่ในการตั้งราคาประกันบริษัทพวกนี้สูงกว่า low touch ในบริษัทที่ผมทำอยู่นั้น การตั้งราคาของบริษัทใหญ่เช่นนี้ต้องผ่านการยอมรับของ credential actuary (FCAS หรือ ACAS)
     นอกจาก actuary แล้วการตั้งราคา commercial insurance ยังต้องใช้ประสบการณ์ของ underwriter ที่ต้องดูว่าลูกค้าประกันเป็นยังไง และบริษัทคู่แข่งตั้งราคายังไง actuary เราต้องบอกให้ได้ว่าต้องคิดราคาอย่างน้อยเท่าไหร่ และลูกค้ามีโอกาสสูญเสียเท่าไหร่ แต่ underwriter จะเป็นคนติดต่อกับ Agency/Broker เพื่อตั้งราคาสุดท้าย และเซ็นสัญญาทั้งหมด ถ้าราคาที่คู่แข่งนั้นต่ำกว่าเรามาก แล้ว actuary คาดว่าลูกค้านี้จะมีโอกาสสูญเสียสูง underwriter ก็จะไม่รับ
     งานด้าน commercial นั้นจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ลูกค้าแต่ละรายก็ไม่เหมือนกัน ประสบการณ์การสูญเสียทุกปีก็เปลี่ยนไป หรือลูกค้าอาจจะเปลี่ยนมาตรการทำให้สภาพแวดล้อมของการทำงานปลอดภัยขึ้น

Personal Insurance Pricing
     ประกันรถยนต์ในอเมริกานั้นทุกคนที่ขับรถต้องมี กฏหมายที่นี่บังคับให้ทุกคนต้องมีอย่างน้อยประกันที่ปกป้องบุคคลที่สาม เพราะฉะนั้นข้อมูลและสถิติที่นี่มีเยอะมาก บริษัทประกันใหญ่ๆที่มีลูกประกันเยอะก็สามารถใช้สถิติของตัวเองในการตั้งราคาได้ ส่วนบริษัทที่ไม่ใหญ่มากก็สามารถใช้ข้อมูลขององกรณ์ที่เก็บสถิติจากบริษัททั่วไปในการตั้งราคาได้แทน ที่นี่ส่วนใหญ่บริษัทจะใช้ Predictive Modeling ในการตั้งราคา หนึ่งในวิธีที่แพร่หลายที่สุดคือ Generalized Linear Model คนที่เรียนสถิติมาจะต้องเรียน GLM มาแล้วแน่นอน
     แม้ว่า GLM นั้นจะมีการใช้มานานแล้ว เพราะ Technology ของรถยนต์ที่เปลี่ยนตลอดทำให้งานของ actuary ที่สร้างโมเดลนั้นตื่นเต้นและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โมเดลที่ใช้ตั้งราคาปีที่แล้วนั้นอาจจะไม่ตรงในการตั้งราคาประกันปีหน้าแล้วก็ได้ หรืออะไรที่คิดว่ามีความสำคัญในโมเดลปีที่แล้ว อาจจะไม่มีความสำคัญในโมเดลปีนี้แล้วก็ได้ โมเดลสำหรับประกันรถยนต์ที่ผมทำงานอยู่นั้นมีมากกว่า 300 parameters ซึ่งถือว่าเป็นโมเดลที่ complex มาก

Friday, June 24, 2016

Studying for Upper Level Exams: การเตรียมตัวสอบ Upper Level Exams

     สวัสดีครับ ไม่ได้เขียนนานเลย ตอนนี้ผมกำลังจะเริ่มอ่าน Exam 8 เลยคิดว่าจะมาเขียนเรื่องการเตรียมตัวสอบ Upper Level Exams หน่อย
     ตอนนี้ผมสอบผ่านมาแล้ว 3 ULE (5, 6, and 9) เหลืออีกแค่ 2 ตัวผมก็จะเสร็จแล้ว ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดก็น่าจะจบได้ภายในกลางปีหน้า

    Manuals ที่ผมใช้:
  • Exam 5: The Infinite Actuary และ Source Materials (บ้าง)
  • Exam 6: The Infinite Actuary และ Source Materials
  • Exam 9: The Infinite Actuary, Goldfarb, และ Source Materials
  • Exam 8: The Infinite Actuary, Fox Seminar และ Source Materials (updated 1/4/2017)
  • Exam 7: The Infinite Actuary และ Casual Fellow (updated 6/30/2017)
1. เลือก Manual ที่ต้องใช้
     สิ่งแรกที่ผมทำคือเลือก study manual ผมโชคดีที่ที่บริษัทที่ผมทำงานอยู่มีคนที่สอบข้อสอบเดียวกัน และคนที่ผ่านแล้วเยอะให้สอบถามได้ ว่าอันไหนดี อันไหนที่ใช้แล้วอ่านง่าย อันไหนสอนลึก ถ้าคุณไม่มีใครให้ถาม ผมแนะนำให้ลองอ่านดูที่ ActuarialOutpost ในนี้จะมีคนมาเขียนเยอะ ไม่ว่าจะเรื่องเลือก study manual เรื่องข้อสอบ หรืออะไรที่ไม่เข้าใจก็สามารถ post ให้คนอื่นมาตอบได้

2. อ่าน Source Materials
     ไม่ว่า study manual ที่คุณเลือกจะดีแค่ไหน ยังไงผมก็จะแนะนำให้อ่าน source materials ตอนผมสอบ Exam 5 รอบแรก ผมเลือกที่จะไม่อ่าน source materials เพราะทีผ่านมา Prelim ผมก็ไม่ได้อ่าน ใช้แต่ Manual ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดมาก
     ตอนสอบ Exam 6 กับ 9 ผมก็เลยอ่านทั้ง study manul และ source materials บางที Study Manual ก็ไม่ได้มีทุกอย่าง แล้วยิ่งข้อสอบยากขึ้น อะไรใน source materials ก็ถือว่าเป็น fair game
     ส่วนใหญ่พวกนี้จะดาวน์โหลดได้ที่หน้าข้อสอบของ CAS ส่วนอันไหนที่ไม่มีจะมีรวมอยู่ใน study kit ที่สามารถซื้อได้ที่ CAS store syllabus ของแต่ละข้อสอบจะบอกว่าสามารถหาอ่านได้ที่ไหน

3. ดู Examiner's Reports
     อย่างน้อยทุกข้อสอบตั้งแต่ 2011 CAS ได้โพส Examiner's Reports ทุกครั้งที่ผมอ่านเนื้อหาเสร็จหมดแล้วผมก็จะเริ่มดูข้อสอบเก่าๆ นอกจากดูคำตอบที่มากับ study manual ของ TIA ผมก็จะดูคำตอบที่อยู่ใน Examiner's Reports ด้วย เพราะมันจะทำให้เรารู้ว่าคนตรวจข้อสอบต้องการคำตอบแบบไหน อะไรที่เราควรโชว์ให้รู้ว่าเราเข้าใจเนื้อหา

4. พยายามทำความเข้าใจ
     อันนี้ผมคิดว่าผมเขียนตั้งแต่เขียนเริ่ง prelim อีกโพสแล้ว ถ้าคุณคิดว่า prelim ต้องจำเยอะแล้ว ULE ยิ่งกว่าอีก เนื้อหาจะเยอะมาก เยอะจนทุกครั้งที่อ่านจะงงว่ามันจะสอบยังไงหมดภายใน 25 ข้อเนี่ย เพราะฉะนั้น แทนที่จะจำ อะไรที่ทำความเข้าใจได้ ก็ทำ อะไรที่คิดยังไงก็ได้ให้มันดู make sense ที่สุดได้ก็ทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ Exam 6 ที่เกี่ยวกับ กฎหมายและบัญชี อะไรที่ต้องจำเป็นต้องจำจริงๆ ผมอยากแนะนำให้ลอง notecard ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยใช้ notecard เลย แต่ก็เริ่มใช้ตั้งแต่ Exam 6 แล้วผมแนะนำว่าให้ทำ notecard ขึ้นมาเอง เขียนเอง จะได้ผ่านมือ แล้วจำได้ดีขึ้น แทนที่จะใช้ของ TIA

5. Bloom's Taxonomy
     Future Fellow's Article ข้อสอบตอนนี้ยากขึ้นเพราะสิ่งๆนี้ เมื่อก่อน (จากที่ได้ยินมา) ข้อสอบส่วนใหญ่จะเน้นจำ แต่ตอนนี้จะเน้นเข้าใจ Bloom's Taxonomy จะเน้นดูว่านักเรียนเข้าใจข้อมูลหรือไม่ เช่น เมื่อก่อนข้อสอบอาจถามแค่ว่า reserving วิธีนี้ดีอย่างไร วิธีโน้นดีอย่างไร แต่เดี๋ยวนี้จะกลายเป็นถามว่า ถ้าทำ reserve ของ auto liability สมควรใช้วิธีไหน วิธีไหนไม่สมควรใช้ เพราะอะไร อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น ผมถึงอยากแนะนำให้ทำความเข้าใจมากกว่าจะ แล้วยิ่งมีประสบการณ์ในการทำงานแล้วด้วย ก็สามารถนำมาเป็นข้อตัวอย่างในการตอบได้ด้วย

6. Practice! Practice! Practice!
     ผมไม่ใช่คนที่สามารถขังตัวเองในห้องเงียบๆ 4 ชั่วโมงเพื่อทำ mock exam ได้ ไม่เคยได้ทำเลยตั้งแต่ prelim แล้ว เวลาผมอ่าน ก็จะอ่านคำถาม ดูคำตอบ พยายามทำความเข้าใจก้บคำตอบ ถ้าเป็นเลขก็จะพยายามทำ แล้วดูคำตอบเลย แทนที่จะมานั่งทำทุกข้อแล้วกลับมาดูว่าตัวเองทำผิดไหม วิธีนี้อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน แต่นี่คือวิธีของผม เพราะฉะนั้นทุกคนสมควรหาวิธีที่ดีที่สุดของตัวเอง แล้วมันจะทำให้อ่านคล่องและเข้าใจเร็วขึ้นครับ

7. Tips & Tricks on Writing the Exams

  1. สิ่งแรกที่ผมเรียนรู้คือ ทุก 0.25 คะแนน สมควรจะเขียน 1 sentence/bullet point ถ้าข้อไหนมี 0.75 คะแนน ส่วนใหญ่ข้อนั้นจะถามหา 3 อย่าง 
  2. ไม่จำเป็นต้องเขียนเต็มประโยค สามารถตอบเป็น bullet point ได้ จะเสียเวลาน้อยลง อีกอย่างคือไม่ต้องห่วงเริ่ง spelling หรือ grammar
  3. ใช้ reading time ให้เป็นประโยช ULE จะมี reading time ให้ 15 นาที เวลานี้สมควรใช้ในการดูข้อสอบ สร้าง strategy ในการทำข้อสอบ
  4. แต่ละคนจะมี strategy ไม่เหมือนกัน ทุกคนสมควรหา strategy ของตัวเอง 
    1. ทำตามข้อ 1-25 ผมทำวิธีนี้เพราะว่าแต่ละข้อจะเรียงตามลำดับของ syllabus
    2. ทำข้อที่มีคะแนนเยอะก่อน
    3. ทำอะไรที่ review ล่าสุดก่อนสอบ
  5. อย่าทิ้งทุกอย่าง สมมุติว่าข้อหนึ่งมี 2 ส่วน แล้วส่วนที่ 2 ต้องใช้คำตอบของส่วนที่ 1 ในการทำ ถ้าข้อแรกทำไม่ได้ ให้เขียน assumption (I assumed a = 5) แล้วใช้ตัวเลขนั้นในการทำส่วนที่ 2 เราอาจจะถูกหักคะแนนของส่วนที 1 แต่ถ้าเราสามารถทำส่วนที่ 2 ได้ เราก็อาจจะได้เต็มของส่วนที่ 2
วันนี้มีแค่นี้ก่อนแล้วกันนะครับ แล้วเดี๋ยวตอนอ่าน Exam 8 ถ้าผมนึกอะไรได้ จะมาเขียนบอกอีกนะครับ ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านนะครับ แล้วถ้าใครมีคำถามอะไรก็เขียนใน comment ได้นะครับ ผมจะพยายามตอบให้เร็วที่สุด ถ้าช่วงก่อนสอบผมตอบช้าหน่อยต้องขออภัยด้วยนะครับ

Monday, January 18, 2016

CAS vs SOA: ความแตกต่างระหว่าง CAS และ SOA

     สวัสดีครับทุกคน ไม่ได้เขียนอะไรนานเลย มีคนถามมาว่า CAS และ SOA ต่างกันยังไง วันนี้ผมเลยจะมาเขียนอธิบายเรื่องนี้ละกันนะครับ
     อย่างที่เรารู้กันอยู่ว่าทั้งสององค์กรนี้เป็นองค์กรที่ก่อตั้งอยุ๋ในสหรัฐอเมริกา ถ้าเราสังเกตดู ประเทศส่วนใหญ่นั้นจะมีแค่องค์กรเดียวดูแลการศึกษาของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยทั้งทาง Life และ P&C (CIA ของ คานาดา, IFoA ของ อังกฤษ, Actuaries Institute ของ ออสเตรเลีย) แต่ของอเมริกานั้นจะมี 2 องค์กร 
     Casualty Actuarial Society (CAS) จะโฟกัสการศึกษาของประกันภัย และ SOA จะโฟกัสการศึกษาของประกันชีวิต 

Qualifications: 

     ทั้ง 2 มี Preliminary Exams ที่คล้ายๆกัน ซึ่งก่อนปี 2013 ทั้ง 2 องค์กรได้ช่วยกันดูแลการสอบของ Preliminary Exams (P, FM, MFE และ C) แต่ 1 Preliminary exam ที่ต่างกันก่อนหน้านี้คือ MLC vs 3L ซึ่ง MLC จะโฟกัสเรื่องของประกันชีวิต ซึ่งถ้าใครได้สอบมาแล้วจะรู้ แต่ 3L ของ CAS นั้นตอนนี้ได้เปลี่ยนเป็น S เรียบร้อยแล้ว และโฟกัสไปทางการใช้ Statistics 
     หลังจาก Preliminary Exams แล้ว นักเรียนทางด้าน SOA ก็ถือว่าเกือบจะได้ Associateship แล้ว เหลือแค่การทำ Online Course for Fundamental Actuarial Practice และ Associateship Professional Course ซึ่งผมต้องขออภัยด้วยถ้าไม่สามารถอธิบายเกี่ยวกับ 2 อย่างนี้ได้ แต่จากที่สังเกตจากเพื่อนที่ไปทาง SOA ส่วนใหญ่จะใช้เวลาไม่ถึง 1 ปีหลังจากผ่าน Preliminary Exams หมดแล้ว แต่ส่วนทางด้าน CAS นั้น นักเรียนยังต้องผ่าน Exam 5 และ 6 ก่อน รวมทั้งยังต้องผ่านขอสอบ Course 1 และ 2 และต้องไปสมนา Course on Professionalism ก่อนถึงจะ fulfill ทุกอย่างเพื่อที่จะได้ Associateship Exam 5 และ 6 นี้ก็ไม่ได้ง่ายกว่า Preliminary Exams ที่ผ่านมาเลย และยังเป็นข้อสอบเขียนอีก
     หลังจากได้ Associateship แล้ว หนทางการเป็น Fellowship ของทั้ง 2 องค์กรก็ต่างกัน สำหรับ SOA นักเรียนที่ทำงานต่างสาขาจะสอบไม่เหมือนกัน (Health vs Life vs Pension vs Finance) ส่วน CAS นั้นไม่มีให้เลือก ทุกคนต้องสอบ Exam 7, 8, และ 9 ถึงจะได้เป็น FCAS จากที่เห็นมา นักเรียนจะใช้เวลาเป็น FSA น้อยกว่า FCAS ซึ่งผมไม่รู้เวลาของ FSA แน่นอน แต่สำหรับ FCAS นั้นจะ average ราวๆ 8-10 ปีจากข้อสอบแรกถึงการเป็น Fellowship* 

งาน

     อย่างที่ผมได้เกิ่นก่อนหน้านี้ CAS นั้นโฟกัสเรื่องของประกันภัย และ SOA จะโฟกัสเรื่องของประกันชีวิต สำหรับนักเรียนที่ทำงานในบริษัทประกันภัย (Property & Casualty Insurance) ไม่ว่าจะเป็นประกันระดับ Personal Insurance (เช่นประกันรถยนต์ส่วนตัว ประกันบ้าน) ระดับ Commercial Insurance (เช่นประกัน General Liability, Commercial Autos, Workers Compensation) หรือระดับ Reinsurance จะต้องศึกษาข้อสอบของ CAS และสอบเพื่อเป็น FCAS 
     ส่วนนักเรียนที่ทำงานด้าน ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ คิดเงินบำนาญ หรือ Annuities จะต้องสอบข้อสอบของ SOA เพื่อเป็น FSA

General Insurance Track by SOA

     ผมไม่แน่ใจว่าทุกคนได้ทราบหรือไม่ในการแยกทางของ 2 องค์กร ในท้ายปี 2012 SOA ได้ส่งจดหมายไปที่ CAS ประกาศยกเลิกการร่วม Preliminary Exams ถ้าใครได้สอบ Preliminary Exams ก่อน 2012 จะเห็นใบ Print-out หลังสอบเสร็จ มี 3 ตราประทับอยู่ (SOA, CAS, และ CIA) และหลัง 2012 จะเหลือแค่ 2 ตรา (SOA และ CIA) แม้ว่า SOA จะไม่ยอมร่วมมือกับ CAS แล้ว CAS ก็เห็นว่านักเรียนที่ยังเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นยังไม่สำควรที่จะต้องเลือกว่าตัวเองอยากเรียนทางไหน (Life vs P&C) จึงยอม waive ข้อสอบ P, FM, MFE และ C ของ SOA**
     เหตุผลที่ SOA ต้องการแยกทางกับ CAS เพราะว่า SOA นั้นต้องการที่จะขยายตัวเองโดยการเข้ามาในประกันภัย (P&C) ซึ่งหลังจากแยกทางกันไม่นาน SOA ก็ได้ประกาศออกข้อสอบ General Insurance Track สำหรับในอเมริกานั้น ยังไม่มีบริษัทประกันภัยบริษัทไหน (ที่ผมได้ยินมา) ยอมรับ GI Track ของ SOA ทุกบริษัทยังต้องการให้นักเรียนสอบเพื่อเป็น FCAS อยู่
     ยังไงก็แล้วแต่ในตอนนี้ CAS ก็ยังเป็นที่ยอมรับอันดับต้นๆขององค์กรที่มีประสิทธิภาพในการสร้างนักคณิตศาสตร์ประกันภัยทั่วโลก แม้แต่ในประเทศสิงคโปร์ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องมี FCAS เท่านั้นถึงจะรับรอง Loss Reserves สำหรับบริษัทประกันภัย (P&C) ได้***

ขอขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านนะครับ ถ้ายังมีอะไรสงสัยอยู่ก็ถามมาได้เลยนะครับ

Sources: